วันเสาร์ที่ 4 กรกฏาคม 2552
วันแรกแห่งการเริ่มต้นการออกเดินทาง วันนี้ผมตื่นค่อนข้างเร็วเพื่อที่จะออกเดินทางจากหอพักมายังคณะ เพื่อจะขึ้นไปตรวจเช็คอีกทีให้แน่ใจ ว่าไม่ได้ลืมอะไรไว้ทั้งที่หอและที่บูทในคณะ เมื่อมาถึงก็เจอเพื่อนๆกลุ่มหนึ่งที่มารออยู่แล้ว จึงฝากกระเป๋าไว้ และไปกินข้าวที่โรงอาหาร ซึ่งก็เกือบทำให้กลับมาที่รถไม่ทัน แถมประเป๋าที่ฝากเพื่อนไว้ก็ไม่มีคนช่วยเอาขึ้นไปไว้บนรถอีกต่างหาก เป็นเหตุให้ผมได้ที่นั่งแทบจะสุดท้ายบนรถ และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลับพักผ่อนขณะเดินทาง
หลังจากที่นั่งทรมาณอยู่ซักพักหนึ่งก็เดินทางมาถึงบ้านเขาแก้วของคุณทรงชัย ที่จังหวัดสระบุรี หลังจากขยี้ขี้ตาให้ทัศนียภาพในการมองเห็นชัดเจนขึ้น ก็เริ่มเดินผ่านซุ้มพุ้มไม้เข้าไปยังด้านในของรั้วไม้ที่บ่งบอกอาณาเขตของกลุ่มบ้านสถาปัตยกรรมไทยแบบพื้นถิ่น โดยมีลานดินกว้างขวางเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเรียกได้ว่าลานอเนกประสงค์ จัดงานเลี้ยงต่างๆ หรือตากเสื้อผ้า
อาคารไม้ในรั้วของคุณทรงชัยนั้นไม่ได้มีเพียงหลังเดียว และทุกหลังมีอายุเก่าแก่และถูกย้ายมาเพื่อทำนุบำรุงไว้ ให้คงอยู่ในสภาพเดิม เพื่อให้คนรุ่นหลังหรือผู้ที่ต้องการเข้าชมได้มาเรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างเช่นนักศึกษาอย่างพวกเรานั่นเอง โดยอาคารนั่นก็มีหลายลักษณะ สอดแทรกอยู่อย่างลงตัวเข้ากับความงามของธรรมชาติ ทั้งไม้หอม ไม้ประดับ รวมทั้งผลไม้ต่างๆ โดยบ้านหลังแรกที่ติดกับลานด้านหน้าเป็นเรือนไทยใต้ถุนสูง ซึ่งใต้ถุนเรือนก็มีการเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ต่อมาจะต้องเดินข้ามสะพานเล็กๆเพื่อไปที่เรือนด้านหลัง ซึ่งเรือนหลังนี้จะเชื่อมต่อกับเรือนกลางน้ำอีก 2 เรือน ซึ่งแต่ละเรือนก็จะมีความงามที่เป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเอง
หลังจากนั้นก็เดินข้ามถนนไปยังหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน ( ไท-ยวน ) เพื่อพักผ่อนกินอาหารคละเคล้าเสียงดนตรีที่คลอเป็นฉากหลังที่ส่งเสริ่มกับบรรยากาศในการนั่งกินข้าวบนแพริมแม่น้ำป่าสัก เมื่อทานอาหารเสร็จ ก็มีการแสดงเล็กๆจากน้องๆ พร้อมกับการให้ความรู้อีกแล็กน้อยจากอาจารย์ทรงชัยเพื่อบ่งบอกถึงความเป็นมาของคนในภาคเหนือ
หลังจากนั้นเราก็ออกเดินทางกันไปต่อที่จังหวัดกำแพงเพชร ที่โบราณสถานวัดพระนอน เป็นที่ที่มีฐานศิลาแลงที่ใหญ่ที่สุด ความอ่อนโยนของธรรมชาติที่กลืนกินความแข๊งกร้าวของหินศิลาแลง ทำให้โบราณสถานดูกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างน่าประหลาดใจ
หลังจากเดินเท้าไปอีกหน่อย เราก็จะเจอกับวัดพระสี่อริยาบถ ที่วัดนี้มีการจัดตกแต่งด้วยเทียนและแสงสึ ด้วยเวลาที่เราไปถึงค่อนข้างจะใกล้ค่ำแล้ว บวกกับเป็นวันก่อนวันอาสาฬหบูชา จึงมีการเดินเวียนเทียนของชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ทำให้อารมณ์ของโบราณสถานเปลี่ยนไป และมีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยผู้คน
วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฏาคม 2552
หลังจากอาบน้ำแต่งตัวและวิ่งตากฝนปรอยๆไปขึ้นรถ นั่งได้ซักพักก็มาถึงวัดเสลารัตนปัพตาราม ( วัดไหล่หินแก้วช้างยืน ) จังหวัดลำปาง โดยลานของวัดที่นี่ก่อนจะเข้าถึงตัวสถาปัตยกรรมหลักจะเป็นลานทรายต่างจากลานดินที่เราพบที่บ้านของคุณทรงชัย ขนาบข้างเป็นฉากด้านหน้าด้วยต้นไม้ใหญ่ 2 ต้น นำสายตาเข้าสู่ลานทราย ตามด้วยสถาปัตยกรรม และมีแนวต้นตาลเป็นฉากด้านหลัง รูปแบบสถาปัตยกรรมของวัดที่นี่จะเป็นศิลปะแบบล้านนา มีลวดลายที่งดงาม ใช้ปูนปั้นเป็นสัตว์แบบล้านนาต่างๆ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นศิลปะเหมือนกับที่ซุ้มประตูโขง ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง แต่สัดส่วนของอาคารกลับกะทัดรัด ทำให้เกิดความลวงตาจากภายนอก เมื่อมองผ่านซุ้มต้นไม้ใหญ่ด้านหน้า ทำให้ความรู้สึกของวัดนั้นดูใหญ่เกินกว่าความเป็นจริง แต่ก็ยังคงความงดงามอย่างเรียบง่ายและลงตัว
วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง มีการเชื่อมที่ว่างภายนอกและภายในด้วยการใช้พญานาค ทอดตัวลงมาจากซุ้มประตูทางเข้าวัดเชื่อมกับลานหญ้าโล่งหน้าวัด โดยนำสายตาเข้าไปที่ตัวโบสถ์หลังซุ้มประตู ที่ตั้งไว้กระชั้นกับซุ้มประตู โดยขนาบข้างภายในด้วยลานทราย และล้อมรอบระเบียงคด
ทางด้านข้างของวัดจะเป็นที่ตั้งของหอสรงน้ำพระแก้วมรกต ซึ่งเป็นอาคารขนาดเล็กมาก แต่สัดส่วนทุกอย่างนั้นลงตัวสวยงาม เป็นการย่อขนาดของโครงสร้างทั้งหมดของรูปแบบสถาปัตยกรรมภาคเหนือ ลงมาอยู่ในขนาดที่เล็กมาก แต่สัดส่วนทุกอย่างกลับดูไม่ผิดเพี้ยน และน่าประหลาดใจมาก
ต่อมาเราก็เดินทางมาต่อที่วัดปงยางคก ( วัดปงจ๊างนบ ) ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิหารพระแม่เจ้าจามเทวี ที่วัดนี้ ลานทั้งหมดจะเป็นลานหินทอดตัวไปสู่วิหาร ซึ่งภายในมีการประดับประดา ตกแต่งไปด้วยลวดลายดอกไม้ต่างๆอย่างสวยงาม ซึ่งก็เปรียบเสมือนเป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง ที่เราต้องการจะบูชาพระด้วยดอกไม้ให้ดอกไม้นั้นคงอยุ่ตลอดไป ด้วยการวาดลวดลายประดับตกแต่งเข้าไปในตัววิหาร
หลังจากออกมาจากวัดปงยางคก เราก็เดินทางผ่านบ้านแบบพื้นถิ่น ที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ในสถาปัตยกรรมแบบไทย ซึ่งบ้านแต่ละหลังก็จะมีความเป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเอง สอดแทรกอยู่กับลาน และสวนรอบๆบ้านทำให้ดูร่มรื่นน่าอยู่
หลังจากออกมาจากวัดปงยางคก เราก็เดินทางผ่านบ้านแบบพื้นถิ่น ที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ในสถาปัตยกรรมแบบไทย ซึ่งบ้านแต่ละหลังก็จะมีความเป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเอง สอดแทรกอยู่กับลาน และสวนรอบๆบ้านทำให้ดูร่มรื่นน่าอยู่
วันจันทร์ที่ 6 กรกฏาคม 2552
เราเริ่มต้นวันด้วยการสานต่อการดูบ้านแบบพื้นถิ่นกันท่ามกลางสายฝนต่อในตัวจังหวัดลำปาง โดยบ้านเรือนและผู้อยู่อาศัยในละแวกนั้น ยังคงทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการทำเกษตรกรรม ทำให้เราได้พบกับธรรมชาติ ความงามของเส้นกริดของทุ่งนา และสีสันหลากเฉดสีของพื้ชพรรณต่างๆ โดยผู้คนเหล่านี้ใช้ชีวิตกลมกลืนอยู่กับธรรมชาติอย่างลงตัว
ต่อจากนั้นเราก็มาแวะกินข้าวกันที่วัดทุ่งกว๋าว และรับพรจากเจ้าอาวาส ก่อนจะออกเดินเท้ากันต่อไปยังชุมชนในละแวกนั้น
นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของผมที่ได้เอาเท้าเปลือยเปล่าลงไปย่ำในทุ่งนาที่เฉอะแฉะ แต่ความรู้สึกที่ได้รับกลับตรงกันข้าม มันกลับทำให้เรารู้สึกชุ่มฉ่ำและตื่นเต้น ความเป็นธรรมชาติที่ผมไม่ค่อยได้สัมผัสมันช่างสนุกสนานเสียนี่กระไร
จากนั้นเราก็เดินทางไปที่วัดข่วงกอม เมืองปาน จังหวัดลำปาง ที่วัดนี้เป็นวัดที่ออกแบบและสร้างใหม่โดยสถาปนิกในยุคปัจจุบัน โดยที่ไม่ลืมที่จะค้นคว้าและนำเอารูปแบบสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นมาประยุกต์และออกแบบออกมาอย่างลงตัว
และเราก็เดินทางออกไปยังชุมชนด้านหลังวัด ซึ่งเราก็ได้พบกับวิวทิวทัศน์ของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่อีกครั้ง ของสายน้ำและทิวเขา ซึ่งหลายๆคนคงซาบซึ่งในความงดงามของธรรมชาติ ที่ชีวิตในเมืองคงหาดูได้ยาก นอกจากในรูปภาพ
วันอังคารที่ 7 กรกฏาคม 2552
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีวิหารที่เป็นเอกลักษณ์ นั่นคือการมีสิงห์ตั้งอยู่บนหัวเสาหน้าวิหาร
มณฑปของที่นี่จะเป็นในรูปแบบสถาปัตยกรรมของพม่า เนื่องจากมีชาวพม่าที่เข้ามาอยู่ที่นี่และเกิดความเลือนใส จึงสร้างถวายไว้ โดยรูปแบบการตกแต่งของพม่า จะเน้นการตกแต่งภายในด้วยกระจก ทำให้เกิดความแวววาว สวยงาม เพื่อเลียนแบบวิมาณบนสรวงสวรรค์มาไว้ในอาคาร และด้านหลังก็คือพระบรมธาตุดอนเต้า
วัดปลงสนุก็เช่นเดียวกัน คือมีมณฑปที่เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมของพม่า ซึ่งตัวมณฑปที่เห็นอยู่นี้ ผ่านการบูรณะใหม่ รวมถึงลานด้านหน้าทั้งหมด แต่ก่อนเคยเป็นลานทรายล้วนมาก่อนที่จะมีการปูพื้นกระเบื้องเป็นบางส่วน
จากนั้นเราก็ไปแวะกินข้าวกันที่วัดศรีรองเมือง ( วัดท่าคราวน้อยพะม่า ) ซึ่งก็ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมของพม่าเช่นเดียวกัน
จากนั้นเราก็ออกเดินทางสู่จังหวัดลำพูน และแวะถ่ายรูปบ้านสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น ซึ่งเราได้เข้าไปที่บ้านของคุณยายท่านหนึ่ง ซึ่งท่านภาคภูมิใจกับบ้านของท่านมาก เพราะท่านได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ ให้เป็นบ้านที่อนุรักษณ์ไว้ซึ่งความเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของไทย
หลังจากนั้นเราก็แวะกินข้าวซึ่งเป็นอาหารเหนือกัน ก่อนที่เราจะนั่งรถต่อไปเพื่อเข้าสู่ที่พักในตัวเมืองเชียงใหม่
วันพุธที่ 8 กรกฏาคม 2552
ที่แรกที่เราไปในจังหวัดเชียงใหม่ ก็คือวัดพันตา เป็นวิหารหอคำหลวง ต่างกับวัดตรงที่สร้างเพื่อให้กับเจ้าขุนบุนนาย แปลนจังเป็นสี่เหลี่ยม
เดินไปอีกนิดหนึ่งเราก็จะเจอกับ โรงแรม U เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงแรมที่ได้มีการนำเอาบ้านพื้นถิ่นเดิมมาดัดแปลง ปรับปรุงเป็นโรงแรมสมัยใหม่ในรูปแบบ Modern
ต่อมาคือวัดทุ่งอ้อ มีการหลอกสัดส่วน บันไดทางขึ้นที่ใหญ่ และตัวอาคารที่เล็ก เป็นการหลอกให้มองดูว่าอาคารมีขนาดใหญ่กว่าที่เป็นอยู่
วัดอินทราวาศ ( ต้นเกว๋น ) อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ มีการหลอกพื้นที่ภายใน ให้มองดูเป็นมุมมองทัศนียภาพ แต่หากเรามองกลับออกมา จะมองเห็นได้ว่า โครงสร้างของอาคารนั้น ถูกตัดเป็นช่วงๆ
โรงแรมราชามาคระเป็นโรงแรมที่ออกแบบโดยสถาปนิกยุคปัจจุบัน ที่ศึกษาและนำเอาสถาปัตยกรรมแบบไทยภาคเหนือพื้นถิ่น ประยุคต์เข้ากับสถาปัตยกรรมแบบจีนนิดหน่อย โดยการนำเอาการเจาะช่อง พื้นที่ว่างของสนามภายในอาคาร หรือความเรียบเกลี้ยงของผนังต่างๆ รวมไปถึงดัดแปลงโครงสร้างที่เป็นไม้ของหลังคาโดยเปลี่ยนเป็นเหล็กที่ทาสีปกปิด ให้มีความรู้สึกเหมือนเป็นโครงสร้างไม้
วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฏาคม 2552
ที่แรกคือศูนย์วัฒนธรรม เชียงใหม่ เป็นศูนย์อนุรักษณ์บ้านทรงไทยภาคเหนือ โดยนำเอาบ้านทรงไทยหลายๆแบบมาแสดงไว้ โดยตัวบ้านเองนั้น บางหลังก็ยังมีผู้อาศัยอยู่
จากนั้นเราก็เดินทางเข้าจังหวัดแพร่ และแวะถ่ายรูปสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของจังหวัดแพร่
เรายังได้เล่นน้ำกันที่หลังบ้านของคุณตาคุณยายคู่หนึ่ง ซึ่งด้านหลังได้ทำเป็นฝายกั้นน้ำเล็กๆ
จากนั้นเราก็เดินทางไปที่จังหวัดสุโขทัย
วันศุกร์ที่ 10 กรกฏาคม 2552
ที่แรกที่เราไปในจังหวัดสุโขทัยคือที่สนามบิน ที่นี่พยายามที่จะนำเอาเอกลักษณ์ความเป็นสุโขทัยใส่เข้าไปกับ Function ของสนามบิน และทำได้อย่างลงตัวและกลมกลืนกับธรรมชาติ ทำให้ได้รับรางวัลต่างๆติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี
สนามบินแห่งนี้ยังมีพื้นที่อื่นๆไว้รองรับนักท่องเที่ยวและชุมชนละแวกนั้นอีกด้วย อาทิเช่น สวนสัตว์ สถานีดับเพลิง โรงแรม ฯลฯ
ที่ต่อมาคือศูนย์อนุรักษ์สังคโลก เป็นที่ๆมีการบูรณะเตาเผาทำเครื่องสังคโลกโบราณ ให้อยู่ในสภาพเดิม เพื่อเปิดและให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยตัวอาคารเองก็มีความเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และเคยได้รับรางวัลต่างๆมากมาย
หลังจากออกมาจากศูนย์ เราก็เดินเลาะออกไปด้านหลังของอาคาร ไปยังชุมชนแถบนั้น เพื่อถ่ายรูปบ้านแบบพื้นถิ่นของจังหวัดสุโขทัย
ต่อมาคือวัดเจดีย์ 9 ยอด เป็นโบราณสถานของศรีสัชนาลัย สร้างด้วยศิลาแลงขนาดเท่าๆกัน มาวางต่อๆกันเป็นเสา
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เราค่อยๆเดินผ่านประตูเมือง คูน้ำ และค่อยๆซึมซับบรรยากาศของความเงียบสงบและความกลมกลืนกันของธรรมชาติและโบราณสถาน ซึ่งมันทำให้ผมนึกถึงสมัยที่ผมมาปัจฉิมนิเทศตอนมัธยมที่สุโขทัยเป็นอย่างมาก
วัดช้างล้อม เป็นวัดที่ตัวฐานจะเป็นรูปช้างยืนหันหน้าออก ล้อมอยู่โดยรอบ โดยซากที่หลงเหลืออยู่นั้น ก็ยังทำให้อดนึกถึงความยิ่งใหญ่ของตัวโบราณสถานในวันที่มันเคยสมบูรณ์ โดยมองผ่านซากหินที่ปรากฏอยู่
วัดพระศรีมหาธาตุเชลียง เมื่อเราไปถึง แสงก็หายไปเสียหมดแล้ว ทำให้เราต้องเดินทางกลับที่พัก และกลับมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น
วันเสาร์ที่ 11 กรกฏาคม 2552
เราตื่นกันตั้งแต่ตี 5 เพื่อให้มาถึงวัดพระศรีมหาตุเชลียงในตอนเช้าก่อน ซึ่งพระพุทธรูปปรางค์ลีลาของที่นี่มีความงดงามมาก
ต่อมาคือวัดกุฏีลาย มีการก่ออิฐแบบคอเบลในส่วนบนของโครงสร้าง
เราหยุดกินข้าวเช้ากันหน้าอุทยานสุโขทัย และเดินทางต่อเข้าไปที่วัดมหาธาตุสุโขทัย ซึ่งการวางตัวของอาคารเป็นในรูปแบบที่ค่อยๆคลี่คลายออก คือจะมีอาคารวางหนาแน่นในช่วงกลางของผังรวม และค่อยๆกระจายออกไปเรื่อยๆเข้าสู่เส้นนอนของแนวรั้ว
จากนั้นก็เดินเท้าต่อไปที่วัดศรีสวาย ลายปูนปั้นต่างๆที่หลงเหลืออยู่นั้นแลดูสมบูรณ์มาก
ศูนย์ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว เป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมใหม่ที่ออกแบบและนำเอารูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบเก่ามาผสมผสานออกแบบ ให้ลงตัวกับ Function แบบใหม่
วัดพระพรายหลวง
วัดสุดท้ายของวันนี้คือวัดศรีชุม มีการสร้างกำแพงหนาขั้นมาล้อมรอบพระพุทธรูปขนาดใหญ่ โดยมีวิหารอยู่ด้านหน้าที่มีขนาดเล็กกว่า เพื่อสร้างอารมณ์ให้ผู้ที่เข้าไปรู้สึกเลือมใส ศรัทธา เหมือนพระพุทธองค์ กำลังมองลงมาที่เราด้วยความอบอุ่น
วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฏาคม 2552
เราเดินทางไปพิษณุโลกกันตั้งแต่เช้าเพื่อไปที่วัดวัดพระพุธชินราธ วัดนี้มีเจดีย์เป็นส่วนกลาง ด้านหน้าเป็นวิหารหลัก และอีก 3 ทิศมีพระพถทธรูป 3 องค์ประจำอยู่ ได้แก่ พระศรีศาสดา พระพุทธชินสีห์ และพระองค์ดำ โดยด้านหลังนั้นมีวิหารเก่าอยู่ ซึ่งสันนิฐานว่าสมัยโบราณ วิหารเก่าด้านหลังนั้นเป็นวิหารหลักที่มีทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก โดยมีทางคนละทางกับในปัจจุบันซึ่งอยู่ในทิศตะวันตก แต่หลังจากมีการบูรณะ ก็ได้เปลี่ยนทางเข้า เพื่อให้ทางเข้านั้นหันหน้าเข้าหาแม่น้ำด้านตามหลักของอยุธยา
ต่อมาเราก็เดินเท้าข้ามถนนมาที่วัดราชบูรณะ ตัวโบสถ์มีการบูรณะใหม่แต่ด้วยการปูสังกะสีบนแป เพื่อป้องกันน้ำรั่ว ทำให้ความเป็นสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมเปลี่ยนไป อารมณ์ของมันเปลี่ยนไป อีกทั้งวัดที่นี่พยายามที่จะดึงดูดผู้คนให้เข้ามาทำบุญที่วัด โดยการพยายามสร้างจุดสนใจภายในวัด มีการนำเรือที่รัชกาลที่ 5 เคยประทับมาให้ผู้คนลอดท้องเรื่อ หรือมีการเดินบนต้นโพธิ์จากอินเดีย เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับผู้ที่มีความนับถือ
หลังจากนั้นก็มีการกินข้าว ซื้อข้าวของมาฝากเพื่อน พ่อ แม่ พี่ น้อง และเราก็มุ่งหน้ากลับสู่กรุงเทพ
วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)